เที่ยววัด วัง รำลึกความหลังครั้งก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา

เที่ยววัด วัง รำลึกความหลังครั้งก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา

เที่ยววัด วัง รำลึกความหลังครั้งก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เที่ยววัดพนัญเชิง  ฟังคำเล่าขาน ตำนานเมืองอโยธยา: เพียงชั่วพริบตาจากกรุงเทพฯ เราก็มาถึงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยเริ่มตั้งหลักกันที่ วัดพนัญเชิง วัดเก่าแก่ที่เชื่อกันว่าสร้างมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) ยังไม่ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ขณะพื้นที่บริเวณนี้ยังเป็นเมืองอโยธยาอยู่ ไม่น่าแปลกใจที่ภายในวัดเนืองแน่นด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะเรื่องที่เล่าขานสืบต่อกันมาถึงที่มาของวัดนี้มีเสน่ห์ตรึงใจทุกคนที่ได้ฟังจนอยากมาเห็นด้วยตาตนเองสักครั้ง  

หากจะบอกเล่าเรื่องนี้ตามขนบนิทานก็คงจะเล่าได้ว่า..."กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระเจ้ากรุงจีนต้องการสานสัมพันธ์กับเมืองอโยธยาจึงส่งลูกสาวคือพระนางสร้อยดอกหมากมาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์แห่งอโยธยา  เมื่อเสด็จมาถึงพระนางได้ทำเชิงให้พระเจ้าสายน้ำผึ้งออกมาต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ แต่พระเจ้าสายน้ำผึ้งไม่ออกมาด้วยพระองค์เอง พระนางน้อยใจจึงกลั้นใจตายอยู่ในเรือพระที่นั่ง บริเวณนี้จึงมีชื่อว่าพระนางทำเชิงหรือพระนางหยั่งเชิง และเพี้ยนเป็นพนัญเชิงในเวลาต่อมา" ตำนานนี้จบอย่างไม่สมหวังแต่ก็ตราตรึงใจผู้คนทุกยุคทุกสมัย ในวัดพนัญเชิงจึงมีศาลเจ้าแม่จู๊แซเนียหรือตำหนักพระนางสร้อยดอกหมาก ตั้งเด่นเป็นสง่าให้ชาวบ้านได้สักการะ  

ในตำหนักประดิษฐานรูปหล่อพระนางสร้อยดอกหมากองค์เล็กเท่าของเล่นเด็ก  ทุกปีโดยเฉพาะช่วงตรุษจีนและงานเทศกาลประจำปี ชาวจีนจำนวนมากจะพากันมาถวายผ้าแพรสีสันสดสวยแด่เจ้าแม่ไม่เพียงตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา สิ่งที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาวัดนี้ยังมีหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ พระพุทธรูปองค์นี้มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง  หนังสือ คำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวว่า ช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 นั้น หลวงพ่อโตมีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง เป็นลางบอกเหตุว่าอยุธยาจะล่มสลายกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะหลวงพ่อโตทั้งองค์ พร้อมถวายพระนามอีกพระนามหนึ่งว่า "พระพุทธไตรรัตนายก" มีหน้าตักกว้าง 20.17 เมตร สูง 19 เมตร พระพักตร์เหลี่ยมอย่างศิลปะอู่ทอง  ในแต่ละปีเมื่อมีงานประเพณีนมัสการหลวงพ่อโต ทั้งชาวไทยและชาวจีนก็มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง  

ครั้งอดีตทุกคนต่างรอคอยประเพณีนี้ ด้วยเป็นช่วงที่ตรงกับหน้าน้ำ นอกจากจะได้เฉลิมฉลองตามประเพณีแล้ว ยังเป็นโอกาสพายเรือเล่นน้ำร่วมกันของชาวบ้านด้วยก่อนออกจากวัดพนัญเชิง เราเข้าไปภายในโบสถ์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระทอง พระปูน และพระนาก พระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้งสามองค์ พระพุทธรูปองค์ซ้ายสุดเป็นพระพุทธรูปทองคำเก่าแก่สมัยสุโขทัย องค์กลางเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยา และองค์ขวาเป็นพระพุทธรูปนากสมัยสุโขทัย  เรากราบสักการะพระพุทธรูปเก่าแก่ทั้งสามองค์ ชมจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม รำลึกถึงตำนานที่ทำให้วัดแห่งนี้ยังเป็นที่น่าหลงใหล ก่อนลาจากไปยังสถานที่ต่อไปเพื่อชมความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาผ่านโบราณสถานแห่งใหม่

เที่ยววัด วัง รำลึกความหลังครั้งก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา :จากวัดพนัญเชิงเรามุ่งหน้าไปยังวัดพระศรีสรรเพชญ์ และพระราชวังโบราณ ซึมซับความรุ่งเรืองครั้งอดีตที่คงหลงเหลือในซากอิฐปูน เราจอดรถหน้าวัดมงคลบพิตรแล้วเดินผ่านประตูวัดด้านขวาเข้าไปยังวัดพระศรีสรรเพชญ์  เมื่อเข้าเขตวัด เบื้องหน้าคือเจดีย์พระศรีสรรเพชญ์ ที่แสงแดดยามบ่ายส่องกระทบเรือนยอดเจดีย์ดูมลังเมลืองยิ่งใหญ่ตระการตา แต่การรับรู้ว่าในกาลก่อนซากปรักหักพังเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของพระราชวังแห่งกรุงศรีอยุธยา ก็ทำให้เราอดใจหายไม่ได้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 1893 ครั้งที่สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา สร้างพระราชวังหลวงแห่งนี้ขึ้น ครั้งนั้นพระราชวังประกอบด้วยพระที่นั่งถึงสามองค์ ได้แก่ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท และพระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท ต่อมาเมื่อปี 1991 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้ปรับเปลี่ยนพระราชวังครั้งใหญ่ ทรงอุทิศพระที่นั่งทั้งสามองค์ให้เป็นส่วนหนึ่งของวัดหลวง นามว่าวัดพระศรีสรรเพชญ์ และขยายพื้นที่วังมายังบริเวณกำแพงด้านเหนือริมแม่น้ำลพบุรี

บริเวณที่เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์นับเป็นส่วนที่สมบูรณ์ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่นี้  แรกเริ่มเดิมทีสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นสององค์  องค์แรกบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อีกองค์บรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3  ต่อมาเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สวรรคต กษัตริย์รัชกาลต่อมาคือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อ พุทธางกูร) ก็โปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นอีกองค์เพื่อบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจดีย์ทั้งสามองค์นี้จึงเป็นที่ประทับสุดท้ายของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามพระองค์แห่งกรุงศรีอยุธยา ส่วนบริเวณปราสาทราชมณเฑียรนั้นปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพัง  เราเดินเข้าไปสำรวจบริเวณต่างๆ  อิฐปูนทรุดโทรมเสื่อมสลายเหลือทิ้งไว้เพียงโครงสร้างหลักๆ  พระราชวังแห่งนี้ในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางราชอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกร  หากนึกภาพในครั้งนั้นไม่ออก ให้นึกถึงพระบรมมหาราชวังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชดำริให้สร้างปราสาทราชมณเฑียรต่างๆ คล้ายคลึงพระราชวังโบราณของกรุงศรีอยุธยา หรือถ้ายังจินตนาการได้ไม่ชัดเจน ต้องลองไปเมืองโบราณที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาทจำลอง

ที่สร้างอิงจากหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวถึงพระที่นั่งนี้อันเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังโบราณ จัดแสดงอยู่ในบริเวณซากปราสาทพระราชวังมีป้ายความรู้แสดงไว้ทุกระยะว่า สถานที่ตรงหน้าเคยมีสถานะอย่างไร ยิ่งใหญ่เพียงใด  เรานั่งชมพระราชวังโบราณกันจนเย็นย่ำ นั่งหลับตาและจินตนาการว่า ในวันนี้หากพระราชวังยังไม่ถูกทำลายไป รอบบริเวณยังเนืองแน่นไปด้วยผู้คน ภาพตรงหน้าคงสวยงามจับใจ มีชีวิตชีวา  แสงอาทิตย์ยามเย็นซึ่งส่องลอดเงาไม้ตกกระทบยอดปราสาทคงดูไม่เหงาหงอยเช่นนี้

สัมผัสยุคทองของอยุธยา ที่วัดไชยวัฒนาราม: ว่ากันว่าเมื่อไรที่บ้านเมืองสงบสุข เมื่อนั้นศิลปวัฒนธรรมในบ้านเมืองจะรุ่งเรืองถึงขีดสุด พวกเราจึงตรงมาที่ วัดไชยวัฒนาราม วัดเก่าแก่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง รัชสมัยที่บ้านเมืองปราศจากศัตรูไร้การต่อสู้รบรา เพื่อชมอนุสรณ์สถานแห่งความรุ่งเรืองที่ว่านี้ วัดไชยวัฒนารามตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกของเกาะเมืองอยุธยา  สิ่งที่โดดเด่นดึงดูดสายตาเราเป็นอย่างแรกเมื่อจอดรถบริเวณหน้าวัด คือพระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งตระหง่านเป็นศูนย์กลาง รายล้อมด้วยปรางค์ทิศทั้งแปดทิศ  เราไม่รอช้า เดินเข้าไปสัมผัสความงามของหมู่ปรางค์ใกล้ๆ จึงเห็นว่าในความใหญ่โตมีรายละเอียดอันประณีตบรรจงมากมายซุกซ่อนอยู่  ปรางค์ทิศแต่ละองค์เชื่อมต่อกันด้วยระเบียงคด มีซุ้มประตูทรงยอดปราสาท  ในซุ้มปรางค์ทิศเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องอันเป็นสัญลักษณ์แห่งรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเดินชมอยู่ครู่ใหญ่ 

เรากลับมายังบริเวณหน้าวัด จึงสังเกตเห็นว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นตามแบบแผนของเขาพระสุเมรุไม่ผิดเพี้ยน  ลักษณะหมู่ปรางค์ การวางผังสถานที่ตามคติภูมิจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งพระพุทธรูปทรงเครื่อง เหล่านี้เป็นแบบแผนของศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายที่จะพัฒนาสืบเนื่องต่อมาอีกหลายสมัย  เรานึกถึงพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม แล้วปลาบปลื้มใจที่แบบแผนศิลปกรรมที่รุ่งเรืองในอดีตยังได้รับการสืบทอดมาจนปัจจุบัน ความสวยงามของวัดชวนให้เราอ่านประวัติการสร้างวัดคู่ไปด้วยขณะเดินเที่ยวชม  ตามตำรากล่าวว่า วัดไชยวัฒนารามสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระราชมารดาและการที่พระองค์ได้เลื่อนขั้นจากสามัญชนเป็นกษัตริย์องค์ที่ 24 แห่งกรุงศรีอยุธยา  อยุธยาในสมัยของพระองค์เป็นราชอาณาจักรที่สงบสุข ไม่ถูกรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีความขัดแย้งภายในที่รุนแรง จึงเป็นช่วงที่ชาวกรุงศรีอยุธยามีโอกาสต่อยอดศิลปวัฒนธรรมของชาติ ได้เรียนรู้วิทยาการและวิชาความรู้ใหม่ๆ จากในราชอาณาจักรและจากการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ อีกทั้งพระพุทธศาสนาก็ได้รับการฟื้นฟูและทำนุบำรุงอย่างดี ยุคนี้จึงถือเป็นยุคซึ่งเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดของกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  ความเจริญนี้ส่งผ่านทางโบราณวัตถุ โบราณสถาน และวัดวาอาราม  วัดไชยวัฒนารามที่เราชื่นชมอยู่นี้ก็ถือเป็นหนึ่งในหลักฐานที่ดีที่สุดจากยุคนั้น

วัดสุวรรณดาราราม  จากกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ : เราเปลี่ยนบรรยากาศจากการชมวัดวาที่ยังคงหลงเหลือจากครั้งอดีตมาชมวัดที่ยังมีชีวิต ด้วยการเดินทางมายังวัดสุวรรณดาราราม ราชวรวิหาร วัดประจำราชวงศ์จักรีแม้จะเป็นวัดประจำราชวงศ์จักรี ทว่าวัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่นานนักก่อนกรุงศรีอยุธยาจะล่มสลาย  ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงสถาปนากรุงรัตน-โกสินทร์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่และยกย่องให้เป็นวัดแห่งราชวงศ์จักรี วัดสุวรรณดารารามจึงถือเป็นจุดคาบเกี่ยวระหว่างกรุงศรีอยุธยาอันเรืองรองกับกรุงรัตนโกสินทร์ราชธานีใหม่ของชาวไทย สิ่งน่าสนใจในวัดมีทั้งโบสถ์และวิหาร  โบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมช่วงอยุธยาตอนปลาย สังเกตได้จากฐานโบสถ์แบบตกท้องช้างหรือท้องเชือก และมีเสารองรับชายคาด้านหน้าอาคาร  ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยซึ่งหล่อขยายส่วนจากพระแก้วมรกตที่กรุงเทพฯ และสิ่งที่โดดเด่นจนละสายตาไม่ได้ก็คือจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างอยุธยา  จิตรกรรมบนผนังด้านข้างส่วนบนเป็นภาพเทพชุมนุม ส่วนล่างเป็นภาพเรื่องราวใน สุวรรณสามชาดก เตมีย์ชาดก และเวสสันดรชาดก  ด้านหลังพระประธานเป็นภาพนรกสวรรค์ ส่วนด้านหน้าเป็นภาพมารวิชัย และภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่สวยงามตรึงใจมาก

จากโบสถ์เราเข้าไปชมจิตรกรรมฝาผนังในวิหารซึ่งร่ำลือกันถึงความสวยงาม  จิตรกรรมในวิหารแห่งนี้ต่างจากที่อื่น กล่าวคือ ไม่ได้เป็นภาพพุทธประวัติตามขนบนิยม ทว่าเป็นภาพเหตุการณ์สำคัญในพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงเมื่อเสด็จสวรรคต รวมทั้งภาพสำคัญที่อยู่เบื้องหน้าพระประธาน เหนือประตูทางเข้า คือภาพสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระเจ้าบุเรงนอง  ภาพนี้วาดในสมัยพระบาทสมเด็จพระ-ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) เป็นภาพจิตรกรรมที่นำไปเผยแพร่ประกอบเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวร-มหาราชบ่อยครั้ง  แม้แต่เด็กรุ่นใหม่ถ้าได้เห็นก็คงจำได้ เพราะเป็นภาพบนปกแบบเรียนชั้นประถมฯ หลายเล่มเราออกมานั่งหน้าต้นโพธิ์ใหญ่หน้าวัด ชมความงามรอบบริเวณวัด โบสถ์ วิหาร เจดีย์ทรงลังกาที่รายล้อมด้วยเจดีย์ราย แล้วอดชื่นชมไม่ได้เมื่อคิดว่า แม้หลายสิ่งจะถูกทำลายสิ้นไปเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก แต่เมื่อเวลาหมุนผ่าน ผลัดเปลี่ยนกรุง เปลี่ยนรัชสมัย สิ่งเหล่านั้นก็ได้รับการบูรณะให้ยังคงงดงาม และกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง สิ่งเก่ากับสิ่งใหม่เราพลันตระหนักว่า บางทีความเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย

ส่งท้ายความหลัง ที่พระราชวังบางปะอินและวัดนิเวศธรรมประวัติ : เรามุ่งหน้าออกจากเกาะเมืองอยุธยา ย้อนกลับไปยังที่ที่เราผ่านมาในตอนแรก เพื่อไปหยุดยังสถานีเรียนรู้สถานีสุดท้ายของการเดินทางครั้งนี้ นั่นคือ พระราชวังบางปะอิน ในอำเภอบางปะอินใครๆ มักคิดว่าพระราชวังบางปะอินเป็นสิ่งก่อสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่แท้จริงแล้วพระราชวังนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา

บางปะอินเดิมชื่อเกาะบ้านเลน  ครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถยังดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช พระองค์เสด็จประพาสเกาะนี้และได้หญิงชาวบ้านเป็นบาทบริจาริกา  ต่อมาหญิงผู้นั้นตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชาย คือสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในเวลาต่อมา  เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์ ทรงสร้างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย-อาสน์ขึ้นที่ริมน้ำบนพื้นที่เกาะนี้ แต่เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก พระที่นั่งแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างไป กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีการบูรณะขึ้นใหม่ ส่วนพระที่นั่งองค์อื่นๆ ที่เราเห็นในบริเวณพระราชวังนั้นล้วนแต่สร้างขึ้นใหม่ บางปะอินจึงถือเป็นพระราชวังคาบเกี่ยวมาแต่สมัยอยุธยาจนปัจจุบันเมื่อก้าวเข้ามาในพระราชวัง เราสัมผัสได้ถึงความร่มรื่นและความยิ่งใหญ่อลังการ  จุดแรกเราผ่านพระราชฐานชั้นนอก อันประกอบด้วยหอเหมมณเฑียรเทวราช สภาคารราชประยูร พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย-อาสน์ และพระที่นั่งวโรภาษพิมาน  พระที่นั่งเหล่านี้เป็นสถานที่เสด็จออกมหาสมาคมและประกอบพระราชพิธีต่างๆ จึงล้วนงดงามเป็นหน้าเป็นตาของบ้านเมืองจากพระที่นั่งวโรภาษพิมาน เราเดินข้ามสะพานซึ่งเชื่อมต่อเขตพระราชฐานชั้นนอกไปจนสุดปลายสะพานที่ประตูเทวราชครรไล ประตูสู่เขตพระราชฐานชั้นใน  สะพานนี้ได้รับการออกแบบอย่างดีให้มีทางเดินเฉพาะของฝ่ายในแยกจากฝ่ายหน้า โดยฝ่ายหน้าจะมองไม่เห็นคนที่เดินอยู่ในทางเดินของฝ่ายใน แสดงถึงความช่างคิดละเอียดลออของคนโบราณเขตพระราชฐานชั้นในนี้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระมเหสี พระบรมวงศานุวงศ์

รวมทั้งเป็นที่อยู่ของบาทบริจาริกา ประกอบไปด้วยพระที่นั่งอุทยาน-ภูมิเสถียร หอวิฑูรทัศนา พระที่นั่งเวหาศจำรูญที่เรียกกันว่าพระตำหนักเก๋งจีน พระตำหนักฝ่ายใน ตลอดจนอนุสาวรีย์สมเด็จพระนาง-เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ และอุทยานขนาดใหญ่ที่ทรงพระเกษมสำราญ พระราชวังบางปะอินมีสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งไทย จีน และยุโรป รอบบริเวณร่มรื่นด้วยไม้น้อยใหญ่ มีหมู่มวลไม้ดอกไม้ประดับตกแต่งไว้อย่างสวยงาม พื้นที่กว่า 116 ไร่อันเป็นที่ตั้งพระราชวังจึงเป็นพื้นที่แห่งความงดงาม ทั้งงดงามด้วยสถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์ และงดงามด้วยความทรงจำถึงความรุ่งเรืองแห่งกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจวบจนกรุงรัตนโกสินทร์เราปิดท้ายการเดินทางที่ วัดนิเวศธรรมประวัติ วัดที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรปทุกประการ  จากพระราชวังบางปะอินเราต้องข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งวัดด้วยกระเช้าลอยฟ้าซึ่งใช้รอกในการเคลื่อนกระเช้า  ค่าโดยสารกระเช้านำไปเป็นค่าบำรุงวัด นักท่องเที่ยวจะบริจาคเท่าใดก็ได้ตามแต่จิตศรัทธา เมื่อเดินเข้ามาในวัด เรารู้สึกเหมือนอยู่ในเขตศาสนสถานของศาสนาคริสต์ ด้วยวัดนี้สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมกอทิก  ตัวโบสถ์โดดเด่นด้วยยอดแหลมสูง ช่องหน้าต่างโค้ง ผนังโบสถ์ประดับด้วยกระจกสี พื้นโบสถ์เป็นหินอ่อนสีขาวสลับดำ  ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธนฤมลธรรโมภาสบนฐานชุกชีที่สร้างเลียนแบบที่ตั้งไม้กางเขนของชาวคริสต์  ที่สำคัญคือผนังด้านหน้าพระประธานซึ่งนำกระจกสีมาตกแต่งเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ให้ผู้ศรัทธาได้ชื่นชมบูชา  

ในบริเวณวัดยังมีสิ่งน่าสนใจอีกหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นพระคันธารราษฎร์ พระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก พระตำหนักสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือพระตำหนักอื่นๆ อีกหลายองค์ ทั้งต้นไม้ก็มีปลูกไว้หลากหลายชนิด ดังเช่นสาละลังกา มะปราง สาเก ชำมะเลียง ให้ความร่มรื่นขณะเดินเที่ยวชมดอกสาละลังกาซึ่งร่วงกราวตลอดทางเดินออกจากวัด พาให้เรานึกถึงวัดและวังทุกแห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ได้เที่ยวชมตลอดหลายวันนี้ นึกถึงความยิ่งใหญ่อลังการทั้งที่จบสิ้นไปแล้วในอดีตและที่ยังหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงตามวันเวลา แม้สภาพความรุ่งเรืองจะสูญสลาย แต่ในความทรงจำ ความรุ่งเรืองนั้นยังดำรงอยู่และงดงาม 

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ เที่ยววัด วัง รำลึกความหลังครั้งก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook