ภูทอก ภูพระบาท สังคม เส้นทางแห่งศรัทธาอีสานเหนือ

ภูทอก ภูพระบาท สังคม เส้นทางแห่งศรัทธาอีสานเหนือ

ภูทอก ภูพระบาท สังคม เส้นทางแห่งศรัทธาอีสานเหนือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนที่เคยไปเยือนเส้นทางเลียบโขง จากจังหวัดเลยสู่บึงกาฬ ต่างยกให้เป็นเส้นทางขับรถที่สวยที่สุดอีกเส้นในประเทศ สายน้ำสีปูนทอดยาวเป็นเพื่อนไปตลอดทาง ธรรมชาติสองข้างถนนอุมสมบูรณ์ นอกจากนี้วิถีของคนแถบนี้ยังคงศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างเปี่ยมล้น บนเส้นทางจึงมีที่เที่ยวเชิงธรรมชาติและเชิงธรรมะหลายแห่งที่น่าสนใจ "นายรอบรู้" ได้รับเกียรติจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชวนเดินไปเยือนเส้นทางนี้อีกครั้งในวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11ที่ผ่านมา เพื่อรอคอยชมปรากฎการณ์ "บั้งไฟพญานาค" อันสุดแสนมหัศจรรย์ จากนั้นขับรถเลาะริมโขงเที่ยวในดินแดนอีสานเหนือ ก่อนไปจบทริปที่ อ. เชียงคาน จ. เลย เมืองเล็กๆ ริมโขง ปลายทางในฝันของใครหลายคนทว่าแผนของเราล้มไม่เป็นท่าตั้งแต่วันแรก เนื่องด้วยเป็นทั้งวันออกพรรษา บางเส้นทางมีน้ำท่วม ประจวบกับมีการเลือกตั้งอบต.ทั้งภาคอีสานพอดี คณะของเราออกเดินทางจากใจกลางเมืองหลวงตั้งแต่ 6 โมงเช้า แต่บ่ายโมงเรายังไม่พ้นลพบุรี มาถึงหน้างานตอนตีสองซึ่งผู้คนกำลังแยกย้ายกลับบ้านกัน (และเจ็บใจมากในเช้าวันต่อมาเมื่อได้ยินคนที่โรงแรมคุยกันเซ็งแซ่ว่าเมื่อคืนเห็นบั้งไฟเป็นร้อยๆ ลูก) ดังนั้นสำหรับคนที่หมายมั่นปั้นมือจะไปชมบั้งไฟพญานาคในปีหน้า ขอเตือนว่าในวันออกพรรษา ถนนที่มุ่งเข้าภาคอีสานรถติดวินาศสันตโร จึงควรเดินทางมาก่อนแต่เนิ่นๆ


การเดินทางเริ่มต้นอีกครั้งในเช้าวันใหม่ คณะสื่อฯ ไปที่น้ำตกชะแนนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ. บึงกาฬ ซึ่งยังคงความเป็นธรรมชาติ เส้นทางเข้าสู่น้ำตกเป็นดินลูกรัง ถ้ามาในฤดูฝนควรใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ สิ่งที่แปลกตาน่าชมของที่นี่คือ "สะพานหิน" แท่งหินที่มีผิวด้านบนเรียบ กว้างประมาณ 9 ม. ยาว 100 ม. เหมือนเป็นสะพานที่ทอดข้ามน้ำตก น้ำตกจะไหลลอดสะพานหินแห่งนี้ไปอีกฟากหนึ่ง และเมื่อเดินจากสะพานหินเข้าไปประมาณ 500 ม. จะพบตัวน้ำตกที่มีน้ำไหลบ่ามาตามหน้าผากว้าง ท่ามกลางผืนป่าที่อุดมด้วยแมกไม้ ช่วงที่สวยงามที่สุดราวเดือน ก.ย.-ต.ค.

ภูทอก: หวาดเสียวจนถึงธรรม!

ใครจะเชื่อว่าความหวาดเสียว จะพาไปถึงธรรมได้ ในช่วงบ่ายเรามาที่ "ภูทอก" หรือวัดเจติยาคีรีวิหาร ใน อ. ศรีวิไล ภูทอกในภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่ตั้งโดดเดี่ยว ซึ่งตรงกับลักษณะภูมิประเทศของภูแห่งนี้ที่ตั้งอยู่โดดเด่นอยู่กลางทุ่งนา ภูทอกสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 350 ม. หรือประมาณตึก 60 ชั้น สิ่งที่โดดเด่นคือบันไดทางขึ้นที่เป็นบันไดไม้เล็กๆ ไต่ขึ้นไปตามหน้าผาที่สูงชันชวนหวาดเสียว ชนิดมองจากข้างล่างแล้วอาจขาสั่นเอาได้ง่ายๆ แต่เมื่อได้ก้าวขึ้นมาจริงๆ ก็พบว่าสะพานสร้างอย่างแข็งแรงมั่นคง และมีเส้นทางเดินขึ้นหลายทาง ทางที่ไม่สูงชันหวาดเสียวก็มีเหมือนกัน

หลายคนอาจไม่รู้ว่า แท้จริงแล้วภูเขาแห่งนี้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ เมื่อ พ.ศ. 2512 หลวงพ่อจวน กุลภชฎโฐ พระป่าสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้ก่อตั้งวัดและให้สร้างสะพานเป็นขั้นบันไดขึ้นสู่ภูทอก สะพานไม้นี้เรียกว่า "สะพานนรกสวรรค์" หลวงพ่อแฝงปริศนาธรรมไว้ว่าการเดินขึ้นแต่ละก้าวก็เหมือนการเดินขึ้นสู่สวรรค์ ที่ต้องมีสติในทุกย่างก้าว เพราะถ้าเดินด้วยความประมาท คึกคะนอง ก็อาจทำให้พลัดร่วงลงมา เปรียบกับการตกนรก

ภูทอกมีทั้งหมด 7 ชั้น ซึ่งเปรียบกับสวรรค์ชั้นต่างๆ ชั้นที่มีทิวทัศน์ที่สวยงามคือชั้นที่ 5 และ 6 ซึ่งเป็นทางเดินไม้เลาะเลียบวนรอบภูไปตามหน้าผา หากมองทางทิศตะวันออกจะเห็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัวที่มีต้นไม้แน่นทึบ จุดชมทิวทัศน์ที่โดดเด่นคือจุดชมวิวลังกา ซึ่งมองเห็นภูลังกา ภูยอดตัดใน จ. นครพนม โดยมีทุ่งนา สวนยางพารา อ่างเก็บน้ำ ที่อยู่เบื้องล่างเป็นฉากหน้า บริเวณชั้น 5 ยังมีหลืบถ้ำที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ และอีกที่ซึ่งเป็นไฮไลต์ไม่ควรพลาด คือพุทธวิหาร อาคารที่มีหินก้อนใหญ่ตั้งอยู่บนหลังคา ชวนให้นึกไปถึงพระธาตุอินแขวนที่ประเทศพม่า ส่วนชั้น 7 นั้น ด้านบนมีแต่ป่ารกชัฏ อาจสื่อถึงว่าสวรรค์ชั้นสูงสุดคือ "นิพพาน" ซึ่งมีเพียงความว่างเปล่า เราเดินสวนกับผู้ท่านผู้แก่หลายท่านที่ค่อยๆ เดินขึ้นไปอย่างระมัดระวัง ในใจนั้นรู้สึกนับถือผู้คนเหล่านี้ที่แม้ร่างกายไม่เอ้ออำนวยแต่ก็พยายามเดินขึ้นด้วยความศรัทธา ทั้งนับถือผู้ที่สร้างบันไดสูงไต่ไปตามหน้าผาได้อย่างอัศจรรย์ทั้งนี้ขอย้ำเตือนว่า ที่นี่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม จึงควรเดินด้วยความสงบ สำรวม แต่งกายด้วยชุดสุภาพ ภูทอกเปิดทุกวันเวลา 8.30-17.00 น. มีช่วงที่ปิดคือช่วงวันปีใหม่และวันสงกรานต์ ด้วยทางวัดเกรงว่าจะมีผู้คนจำนวนมากมาขึ้นภู จนอาจเกิดอันตรายได้

ภูพระบาท: ชมศาสนสถานโบราณ อายุกว่า 1,000 ปี

หลังเข้าพักที่ตัวจังหวัดหนองคาย เช้าวันต่อมาเราแวะไปกราบหลวงพ่อพระใส พระคู่บ้านคู่เมืองหนองคายแล้วก็มุ่งหน้าต่อมาที่ อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี เพื่อเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท แหล่งอารยธรรมในอดีตที่น่าสนใจ

คณะของเราพบกับคุณสมดี อรัญรุท เจ้าหน้าที่นำชมประจำอุทยานฯ ที่มาบรรยายให้ความรู้อย่างสนุก เมื่อเดินเข้ามาตามเส้นทางจะพบเพิงหินจำนวนมาก คุณสมดี อธิบายว่าหินเหล่านี้เป็นหินทรายที่ถูกขัดเกลาจากขบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติ ทำให้เกิดเป็นโขดหินน้อยใหญ่รูปร่างต่างๆ กัน มีการสำรวจพบว่าในอดีตเคยมีมนุษย์โบราณอยู่ที่นี่ และใช้เพิงหินเป็นที่พักอาศัยและศาสนสถาน นอกจากนี้ยังมีตำนานความรักของนางอุษากับท้าวบารส ซึ่งคนโบราณเห็นเพิงหินแล้วจินตนาการเป็นเรื่องราว สอนหญิงสาวถึงความรักอันใสซื่อและบริสุทธิ์ เรื่องมีอยู่ว่า ท้าวกงพาน เจ้าเมืองพาน ได้ไปขอนางอุษาที่เกิดจากดอกบัวและอาศัยอยู่กับพระฤาษีมาเลี้ยงเป็นลูก นางอุษามีรูปงามเป็นเลิศ ท้าวกงพานจึงหวงมาก ไม่ยอมยกให้บรรดาเจ้าชายเมืองต่างๆ ที่มาสู่ขอ ทั้งสร้างหอสูงให้นางอุษาอยู่ไม่ให้ใครยุ่มย่าม วันหนึ่งนางอุษาเก็บดอกไม้มาร้อยมาลัยและนำไปลอยน้ำ มาลัยไปถึงมือท้าวบารส เจ้าชายอีกเมืองหนึ่ง ท้าวบารสจึงออกตามหาจนพบกับนางอุษา ทั้งคู่รักกันและแอบอยู่กินกันบนหอสูง กระทั่งท้าวกงพานมาจับได้ จึงออกอุบายให้สร้างวัดแข่งกัน หากใครสร้างไม่เสร็จก่อนดาวประกายพฤกษ์ขึ้นจะต้องถูกประหาร พี่เลี้ยงนางอุษาได้ออกอุบายให้นำตะเกียงไปแขวนบนยอดไม้ ท้าวกงพานนึกว่าเป็นดาวประกายพฤกษ์จึงหยุดสร้างและต้องถูกประหาร ท้าวบารสพานางอุษากลับเมืองตน ทว่านางอุษาก็ได้พบว่าคนรักของตนมีชายาอื่นอีกหลายคน นางเสียใจมากจึงหนีกลับเมืองมาตรอมใจตาย ฝ่ายท้าวบารสเมื่อทราบข่าวก็รีบตามมา และตรอมใจตายตามนางอุษาไปในที่สุด

เราเดินชมใบเสมาที่คอกม้าน้อย ผ่านถ้ำวัว-ถ้ำคน ซึ่งมีภาพเขียนสีแดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 2,000-3,000 ปี จากนั้นมายังจุดที่เป็นไฮไลต์ของภูพระบาท คือ "หอนางอุสา" ที่อยู่ของนางอุษาตามตำนาน เป็นโขดหินสูงราว 5 ม. รูปทรงคล้ายหอคอยที่มีใครสักคนเอาแผ่นหินไปวางไว้ด้านบน คนโบราณดัดแปลงกลุ่มหินเหล่านี้โดยทำห้องขนาดเล็กมีประตูหน้าต่างเอาไว้ อาจใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือเป็นที่นั่งวิปัสสนาของบุคคลสำคัญ บนลานหินด้านล่างมีใบเสมาหินทรายล้อมรอบ ใบเสมาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ใช้กำหนดเขตพุทธาวาส เขตศักดิ์สิทธิ์ของสงฆ์ แสดงให้เห็นว่าในบริเวณนี้เมื่อช่วงเวลา 1,000 ปีก่อน ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมสมัยทวารวดี 

ระหว่างทางเราได้พบกับบรรดาดอกไม้เล็กๆ ที่บานสะพรั่งตามซอกหิน ทั้งดอกแววมยุรา ดุสิตา สร้อยสุวรรณา กระดุมเงิน ฯลฯ ในช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาวดอกไม้จะบานช่วยแต่งแต้มสีสันให้อุทยานประวัติศาสตร์ดูมีชีวิตชีวา ด้านหน้าอุทยานฯ ยังมีพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม ที่ช่วยให้เข้าใจความเป็นมาได้กระจ่างมากขึ้นอีก หลังจากเดินเที่ยวจนเหนื่อย คณะก็แวะมากินก๋วยเตี๋ยวปลาดอกขจร (เปิดทุกวัน 8.00-17.00 น. โทร. 08-1965-1545, 08-6855-5221) ร้านอยู่ห่างจากแยกขึ้นภูพระบาทไปทาง อ. นายูง ประมาณ 7 กม. รสชาติไม่เลวทีเดียว น้ำซุปเคี่ยวจากกระดูกหมูรสกลมกล่อม เนื้อปลานุ่ม และเครื่องแกงก็จัดเต็มทั้งขิงข่าตะไคร้ใบมะกรูด แถมด้วยดอกขจรที่เคี้ยวสนุก แนมด้วยผักสดจิ้มกะปิ ใครผ่านมาทางนี้แนะนำให้แวะชิม!

วัดป่าภูก้อน : สร้างวัด เพื่อรักษาป่า

วัดป่าภูก้อน ตั้งอยู่กลางป่าสงวนแห่งชาติ ใน อ.นายูง จ. อุดรธานี นอกจากมีสถาปัตยกรรมที่งดงามแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยรักษาผืนป่าต้นน้ำไม่ให้ถูกทำลาย จุดเริ่มต้นการสร้างวัด มาจากที่คุณปิยวรรณและคุณโอฬาร วีรวรรณ พร้อมทั้งคณะ ได้เดินทางมาที่ จ. อุดรธานี ทั้งคู่เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาของพระป่า เมื่อทราบว่าผืนป่าภูก้อนกำลังถูกสัมปทานตัดไม้ คณะศรัทธาจึงได้ตัดสินใจสร้างวัด โดยทำเรื่องขอใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาตินายูง-น้ำโสม อย่างถูกต้องจากกรมป่าไม้ และได้สร้างวัดป่าภูก้อนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2530 บนเนื้อที่ 15 ไร่

ตัววิหารของวัดนั้นมีสถาปัตยกรรมที่อ่อนช้อยงดงามยิ่ง ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี พระนอนยาว 20 เมตรที่แกะสลักจากหินอ่อนขาวจากเมืองคาร์ราร่า ประเทศอิตาลี พุทธลักษณะขององค์พระงดงามน้อมนำให้เกิดความศรัทธา และหากออกมาเดินที่ระเบียงจะมองเห็นผืนป่าอันแน่นทึบที่อยู่รายรอบ พร้อมๆ กับสัมผัสได้ถึงลมเย็นและอากาศบริสุทธิ์ ผืนป่าอันสมบูรณ์แห่งนี้ เกิดจากที่คณะผู้ศรัทธาได้ช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมให้ดีขึ้นจากเดิม โดยขออนุญาตจัดตั้งพุทธอุทยานขึ้นบนพื้นที่ป่ารอบวัด 3,000 ไร่ ชื่อว่า "พุทธอุทยานมหารุกขปาริชาติภูก้อน" ทั้งช่วยกันป้องกันไฟป่า และป้องกันคนลักลอบตัดไม้ล่าสัตว์ ทำให้ป่าที่เสื่อมโทรมเริ่มฟื้นชีวิตกลับคืนมา

ในบริเวณวัดยังมีพระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ เจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้บนชั้นบนสุด ชั้นที่ 2 ประดิษฐานรูปปั้นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และพระป่าระดับเกจิอาจารย์ในแถบอีสาน วัดป่าภูก้อนนับเป็นมงคลสถานที่พุทธศาสนิกชนจะได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของป่า นอกจากเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ช่วยขัดเกลาจิตใจแล้ว ผืนป่ายังแหล่งกำเนิดแห่งสรรพชีวิต ที่ควรร่วมกันรักษาอย่างจริงจังตลอดไป

อำเภอสังคม: เมืองเล็ก สงบงาม ริมฝั่งโขง

แสงแดดอ่อนลง รถของคณะสื่อฯ วิ่งเลาะเลียบริมน้ำมาจนถึง อ. สังคม จ. หนองคาย เมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขง ตัวอำเภอสังคมแห่งนี้ยังคงความสงบ งดงามแบบธรรมชาติดั้งเดิมอยู่ ราวกับเป็นเชียงคานที่ย้อนเวลากลับไปกว่า 10 ปีก่อน ริมน้ำโขงมีรีสอร์ตหลายแห่ง เราเข้าพัก (บ้านไม้ริมโขงรีสอร์ต อ. สังคม โทร. 042-441-560, 08-6630-6176) แล้วรีบออกมาเดินเล่น ในช่วงโพล้เพล้เช่นนี้ท้องฟ้ากำลังเปลี่ยนสีอย่างสวยงาม มีชาวบ้านออกเรือมาวางลอบดักปลา บรรยากาศริมฝั่งโขงเวลานี้จึงดูมีชีวิตชีวา กระทั่งม่านราตรีห่มคลุมเราจึงกลับมารับประทานอาหาร จานเด่นต้องยกให้ปลาแม่น้ำโขง โดยเฉพาะต้มยำปลาคัง ที่เนื้อปลานุ่ม สด อร่อย รสแซ่บ วันรุ่งขึ้นคณะสื่อฯ ตื่นตั้งแต่เช้ามืด ออกไปชมบรรยากาศยามเช้าบนภูเขาที่ วัดผาตากเสื้อ วัดแห่งนี้มีทิวทัศน์มุมสูงที่สวยงามมาก มองลงมาจะเห็นแม่น้ำโขงเลี้ยวโค้งและแยกสาขาออกมา เห็นสันทรายและเกาะแก่งในแม่น้ำ ตัวอำเภอสังคมเองก็ดูเล็กเหมือนเป็นเมืองจำลอง ในยามเช้าเช่นนี้สายหมอกปกคลุมเหนือผิวน้ำ ทำให้ฉากเบื้องหน้ารางเลือนเหมือนอยู่ในความฝัน นับเป็นทิวทัศน์ยามเช้าที่งดงามชนิดไม่ควรพลาด กลับลงมาแล้วเราเติมพลังด้วยไข่กะทะ โจ๊กร้อนๆ (บ้านหมากหลอด โทร. 08-4777-3961, 08-1964-6441) แต่ที่ทุกคนติดใจคือ น้ำหมากเบ็น และไซเดอร์หมากหลอด รสหวานอมเปรี้ยวซาบซ่าหอมน้ำผึ้ง ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากผลไม้พื้นถิ่น ดื่มแล้วช่วยเติมความสดชื่นกระปี้กระเปร่าได้ดีทีเดียว

ปิดทริปที่ "เชียงคาน" : ความหอมหวาน ยังคงอยู่

จาก อ. สังคม เรามาที่ตัวเมืองเชียงคาน พอผ่านเรือนไม้เก่าแก่สองฝั่ง คนในรถก็พูดกันเสียงอื้ออึงว่า "เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปขนาดนี้เชียวหรือ" อาจเพราะภาพร่มผ้าใบที่ตั้งเกลื่อน ผู้คนจอแจ ร้านรวงและที่พักแนวบูทีคผุดขึ้นมาใหม่เต็มไปหมด ทำให้คนที่เคยประทับใจในความสงบงาม และความสะอาดตาของเรือนแถวเมื่อหลายปีก่อน ถึงกับประหลาดใจ เชียงคานวันนี้เปลี่ยนไปไม่น้อย คงเช่นเดียวกับเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอีกหลายแห่ง ใครสักคนเคยบอกว่าถ้าเรามาโดยไม่คาดหวังว่าทุกอย่างจะเหมือนเดิมราวหยุดเวลาไว้ ก็อาจมีความสุขมากขึ้นก็ได้ ในกระแสความเปลี่ยนแปลงนั้น เรายังเห็นคุณยายนั่งเย็บผ้าที่จักรตัวเก่าดังหลายปีก่อนอย่างไม่ยี่หระความ

ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ ภูทอก ภูพระบาท สังคม เส้นทางแห่งศรัทธาอีสานเหนือ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook