ชมพิพิธภัณฑ์ค่ายทหารแบบยุโรปแห่งแรก “ค่ายจักรพงษ์”

ชมพิพิธภัณฑ์ค่ายทหารแบบยุโรปแห่งแรก “ค่ายจักรพงษ์”

ชมพิพิธภัณฑ์ค่ายทหารแบบยุโรปแห่งแรก “ค่ายจักรพงษ์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตึกสีเหลืองสไตล์ยุโรป โดดเด่นสง่างามภายในอาณาบริเวณของมณฑลทหารบกที่ 12 ค่ายทหารแห่งแรกของประเทศไทย ผู้ทรงก่อตั้งคือ จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ พระองค์ท่านเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 40 ในจำนวน 97 องค์ของรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านไปเรียนนักเรียนนายร้อยที่รัสเซียและเรียนต่อวิชาเสนาทหารที่ประเทศเดียวกัน จากนั้นได้นำความรู้มาปรับปรุงข้าราชการทหารไทย ตึกหลังนี้เริ่มสร้างเมื่อปี 2461 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ เสด็จมาทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2462 ในปี 2536 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นตึกอนุรักษ์ และเริ่มทำเป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การจัดแสดงมี 2 ชั้น โดยชั้นล่างจัดเป็นห้องพระบรมรูป ร.5 หนึ่งห้อง ส่วนชั้นบนมีห้องสมเด็จฯเจ้าฟ้าจักรพงษ์ มีห้องทำงานและมุมพักผ่อนอิริยาบถของท่าน ส่วนวัตถุจัดแสดงตามห้องต่างๆในพิพิธภัณฑ์นี้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ในการทหาร ได้แก่ พวกอาวุธที่ทหารใช้ในการรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามมหาเอเชียบูรพา มีปืน ดาบปลายปืน กระบี่ อาวุธเหล่านี้ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสรรพาวุธ ทางนั้นต้องการให้นำมาจัดแสดงเพิ่มเติม แต่ที่นี่ยังไม่พร้อมเรื่องตู้จัดแสดง จึงนำมาจัดแสดงเป็นตัวอย่างเพียงบางชิ้น ส่วนของอุปกรณ์ภาคสนามในการออกรบ ได้แก่ ใบเลื่อย สาแหรก หมวกเหล็ก อย่างเชือกที่มัดเป็นสาแหรก มีประโยชน์มากในการทหาร โดยใช้สำหรับหามคนบาดเจ็บที่โดนยิง เขาจะใช้ไม้คานเสียบตรงรูร้อย ร้อยเสร็จแล้วก็ช่วยกันแบกออกมาส่งที่หมอ ถ้าไม่มีคนเจ็บก็จะใช้สำหรับแบกข้าวสาร แบกปืน และสัมภาระอื่นๆ

พวกเครื่องครัวมีกระทะใบบัวขนาดใหญ่ ปิ่นโตเถาใหญ่ทำจากทองเหลือง กระต่ายขูดมะพร้าวทำด้วยไม้ การประกอบอาหารจะใช้กระทะใบบัวขนาดใหญ่ หุงข้าวในซึ้ง การผัดจะใช้ใบพายคน ซึ่งต้องเป็นคนที่แข็งแรงมาก เมื่อปรุงเสร็จก็แบ่งใส่ปิ่นโตใหญ่ ปิ่นโตเถาใหญ่จะแยกข้าวและกับข้าวออกคนละชั้น ปิ่นโตขนาดที่จัดแสดงนี้สามารถเลี้ยงทหารได้นับสิบคนให้อิ่มได้ทั้งวัน อีกทั้งยังสามารถเก็บความร้อนได้ดี

อีกส่วนหนึ่งที่มีอยู่เป็นจำนวนมากคือ ถ้วยโถชามกระเบื้องแบบยุโรป ทุกชิ้นมีตรากองทัพบก ใช้ในการรับรองบุคคลสำคัญ ความน่าสนใจอยู่ที่ความสวยงามคงทน แม้จะผ่านมาหลายสิบปีแต่ยังคงสภาพดีมาก และขนาดของภาชนะที่ใหญ่กว่าที่เราพบเห็นและใช้กันในปัจจุบัน จานชามทัพพีช้อนส้อมล้วนมีขนาดใหญ่เข้าชุดกัน ที่น่าสนใจยังมีพวกภาชนะเครื่องเงิน มีที่วางขนมปังปิ้ง ที่วางไข่ลวก หรือจะเป็นหม้อไฟ อย่างที่เราเคยเห็นกันเวลาสั่งต้มยำในร้านอาหาร แต่หม้อไฟของที่นี่ทำจากเงินแท้และมีลวดลายสวยงาม หรือที่เห็นเป็นมะพร้าวแห้งลูกใหญ่ เปิดดูข้างในมีกาน้ำชา ป้ายเขียนอธิบายว่าเป็นงานช่างฝีมือสมัยราชวงศ์ชิง คริตศตวรรษที่ 20

นอกจากนี้ยังมีพวกเครื่องใช้สำนักงานสมัยก่อน มีเครื่องพิมพ์ดีด กำปั่นเหล็กสำหรับเก็บทรัพย์สินและเอกสารมีค่าของทางราชการ มีตู้เก็บพระพุทธรูปโบราณที่ล้ำค่าในทางศิลปกรรม อีกห้องหนึ่งมีเครื่องดนตรีไทยที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้ เพราะเปลี่ยนเป็นดนตรีสากล ทางวงดุริยางค์จึงนำเครื่องดนตรี ได้แก่ ฆ้องวง ระนาด มามอบให้กับทางพิพิธภัณฑ์ แม้เวลาจะผ่านมา 90 กว่าปี หลังการบูรณะซ่อมแซมโดยใช้ช่างของกรมศิลปากร ตึกหลังนี้ก็กลับมาสวยงามสมบูรณ์ โดยรูปแบบแต่เดิมมาการที่ทำให้ประตูหน้าต่างตรงกัน ทำให้มีผลต่อการระบายอากาศที่ดี หลังจากเดินชมบนตึกแล้ว ก็สามารถลงไปดูชั้นใต้ดิน ซึ่งตึกสมัยก่อนมักออกแบบให้มีชั้นใต้ดินก็เนื่องมาจากว่าในช่วงศึกสงครามคือสถานที่หลบภัยได้เป็นอย่างดี ห้องใต้ดินของที่นี่กว้างขวาง มีจำนวนห้องมากมาย และโดยรอบจะมีช่องที่ให้แสงสว่างเข้าได้ พร้อมกับสามารถมองลอดออกไปดูภายนอกได้ และที่เห็นเป็นเสาไม้วางยาวอยู่ อันนี้เมื่อก่อนเป็นเสาธงไม้สักต่อกันขึ้นไป 3 ท่อนสูง 18.6 เมตร ลักษณะทำเป็นลิ่มเชื่อมต่อกัน เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วลมกรรโชกแรงจึงหักลงมา แล้วนำมาเก็บรักษาไว้ข้างในนี้

และอีกวัตถุจัดแสดงที่โดดเด่นอยู่ด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ปืนใหญ่ภูเขา ชื่อเต็มว่า ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ใช้ในระดับกองพล เข้ามาประจำการในกองทัพบกไทยเมื่อปี 2463 ในสมัยรัชกาลที่ 6 จ.ส.อ.นพนันท์ให้รายละเอียดว่าปืนนี้ปากลำกล้องกว้าง 75 มม. ภายในบรรจุด้วยเกลียวทั้งหมด 32 เกลียว ยิงได้ไกลที่สุด 6 กิโลเมตร ใช้พลยิงทั้งหมด 5 คน ทำหน้าที่ยิงลั่นไก ป้อนกระสุน รับส่งวิทยุ หาตำแหน่งข้าศึก ปืนใหญ่ภูเขาที่นำมาตั้งจัดแสดงไว้ด้านนอกนี้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันปลดประจำการแล้ว

เรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทั้ง และทั้งรวมความรู้เรื่องราวของค่ายทหารในแบบยุโรปไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ซึ่งก็หาชมได้ไม่ง่ายนัก และการมาชมที่ก็ไม่ยากนักที่จะเดินทางมาก เพราะฉะนั้นแล้ว ก็อย่าลืมแวะมาเที่ยว มาชมความสวยงามของที่นี่กันเยอะๆ ก่อนที่จะไม่มีให้ชม

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook