เติมความสุขด้วยรสขมที่บ้านสันเจริญ จ.น่าน

เติมความสุขด้วยรสขมที่บ้านสันเจริญ จ.น่าน

เติมความสุขด้วยรสขมที่บ้านสันเจริญ จ.น่าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฤดูหนาวที่แล้ว ชีพจรลงเท้าพาไปรับลมหนาวไกลถึงบ้านสันเจริญ จ. น่าน  ย้อนหลังไปหลายสิบปีก่อน ว่ากันว่าดินแดนบนยอดดอยแห่งนี้เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จนมีการขนานนามว่า "สวนยาหลวง" แต่ในปัจจุบันพื้นที่นี้ไม่มีต้นฝิ่นหลงเหลืออยู่แล้ว เพราะชาวบ้านหันมาทำสวนกาแฟกระทั่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของหมู่บ้าน ที่นี่จึงรายล้อมไปด้วยธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรอันแสนบริสุทธิ์ นอกจากนี้ยังเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพของชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยนซึ่งยังคงวัฒนธรรมพื้นถิ่นไว้คอกาแฟทั้งหลายพร้อมเดินทางไปลิ้มรสความขมกันหรือยัง ขอบอกว่าทริปนี้รสชาติกลมกล่อมเหมือนกาแฟที่คุณจะได้ชิม ณ บ้านสันเจริญเลยทีเดียว

เดินทางสู่แดนดอย "สวนยาหลวง"

การเดินทางครั้งนี้ค่อนข้างสมบุกสมบัน ถ้าใครเคยผจญภัยแบบออฟโรดหรือนั่งอยู่บนเรือไวกิ้งในสวนสนุก นั่นแหละคือความรู้สึกที่คุณจะได้สัมผัส เพราะคุณจะต้องไต่เขาไปตามถนนหนทางอันคดเคี้ยวและสูงชันประมาณ 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล  

เตรียมยาดมให้ดี สูดลมหายใจให้ลึกๆ เพื่อพบกับความระทึกตลอดเส้นทางเมื่อรถมุ่งหน้ามาได้ครึ่งทางก็ถึงยังจุดนัดหมาย โดยมี "รองเส็ง" หรือ ภัทรพล เฮงธนะเสถียร เจ้าหน้าที่ อบต. ผาทอง คอยต้อนรับและทำหน้าที่เป็นไกด์ให้เรา  นอกจากเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งรู้จักพื้นที่นี้เป็นอย่างดี เขายังเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยนที่เกิดและเติบโตที่นี่ด้วยพ้นทางลาดชันของเขาลูกสุดท้าย เราก็เข้าสู่เขตบ้านสันเจริญที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา  ก่อนเข้าที่พัก ไกด์เจ้าถิ่นขอพาลัดเลาะเยี่ยมชมหมู่บ้านกันสักหน่อย บ้านสันเจริญอยู่ในเขต ต. ผาทอง อ. ท่าวังผา จ. น่าน เป็นหมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยนที่มาตั้งรกรากอยู่กว่า 100 หลังคาเรือน  ปัจจุบันความเป็นอยู่ของชาวเมี่ยนปรับเปลี่ยนไปบ้างตามความเจริญที่เข้ามา ดังเช่นบ้านเรือนหลายหลังกลายเป็นบ้านปูนหลังคามุงกระเบื้อง บางหลังเป็นบ้านไม้หลังคามุงสังกะสี แต่ถึงอย่างนั้นบ้านแบบดั้งเดิมของชาวเมี่ยนที่เป็นบ้านชั้นเดียว ฝาผนังตีด้วยไม้ พื้นบ้านเป็นพื้นดิน หลังคามุงด้วยหญ้าหรือใบตองตึง ก็ยังมีให้เห็นอยู่ตลอดเส้นทางเราพบเด็กตัวน้อยๆ แก้มสีแดงระเรื่อวิ่งเล่นหยอกล้อกัน

แม่เฒ่านั่งปักผ้าอยู่หน้าบ้าน พ่อเฒ่านั่งสานโต๊ะเก้าอี้หวายทรงกลมเอาไว้ใช้ ผู้สูงอายุส่วนมากแต่งกายด้วยชุดของชาวเมี่ยนกันเป็นปรกติ ขณะที่คนหนุ่มสาวนิยมแต่งเฉพาะในงานพิธีสำคัญเท่านั้น  มองดูแล้วเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมนี้น่าจะให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในฤดูหนาวเช่นนี้จากหมู่บ้านมาไม่ไกล 

พวกเราก็ถึงที่ทำการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟสวนยาหลวง  แดดแรงราแสงลงแล้ว ช่วง 4-5 โมงเย็นนี้เป็นเวลาที่ชาวเมี่ยนรุ่นหนุ่มสาวจนถึงวัยกลางคนต่างลงจากดอยเพื่อนำเมล็ดกาแฟสีแดงสดซึ่งสุกเต็มที่ ที่เรียกว่า "กาแฟเชอร์รี" มาส่งขายยังที่ทำการกลุ่มฯ ก่อนกลับไปหุงหาอาหารตั้งสำรับกินกันพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัวเพียงก้าวเท้าลงจากรถ เราก็ได้กลิ่นกาแฟหอมๆ แล้ว  กลิ่นหอมกรุ่นชวนให้เราเดินตามไปลิ้มรสกาแฟซึ่งชงจากเมล็ดกาแฟคั่วบดใหม่จากเตา  กาแฟรสขมผสานกลิ่นหอมเรียกความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าจนตาสว่างกันเป็นแถว ทั้งยังพาให้อยากไปตะลุยสวนกาแฟ เพื่อสัมผัสต้นทางความขมผสมรสละมุนก่อนตะวันลับฟ้า เราแวะไปนมัสการพระพุทธรูปที่ วัดพุทธานุภาพ หรือวัดสันเจริญ ซึ่งเป็นวัดป่าในหมู่บ้าน สร้างเมื่อปี 2550  ในวัดมีลานกว้างสำหรับกางเต็นท์ พร้อมไฟฟ้าและห้องน้ำมากห้อง อีกทั้งยังมีกุฏิซึ่งมีห้องน้ำในตัวไว้จำนวนหนึ่งเพื่อรองรับแขกผู้มาเยือน  เจ้าบ้านแนะนำให้พวกเรานอนค้างคืนกันที่นี่เพื่อความสะดวกและความเป็นส่วนตัว แต่คืนนี้เราเลือกที่จะพักพิงในชายคาเดียวกับชาวเมี่ยนสักครั้ง

มิตรภาพยิ่งใหญ่ ในบ้านหลังเล็ก

บ้านไม้ชั้นเดียวภายในโอ่โถง มีห้องหับอยู่ฝั่งเดียวกัน ด้านหลังเป็นครัวซึ่งมีเตาฟืนขนาดใหญ่สำหรับหุงต้ม มุมหนึ่งของบ้านมีแท่นบูชาผีบรรพบุรุษ ตามผนังมีตัวอักษรจีนความหมายเป็นมงคลเขียนบนกระดาษสีแดงติดอยู่  คืนนี้เราจะนอนค้างคืนท่ามกลางกลิ่นอายบ้านเรือนชาวจีนในชนบทแห่งนี้บ้านหลังนี้เป็นบ้านของผู้ใหญ่เจริญศักดิ์ เลิศวรายุทธ์ หรือ "องค์นิน" ในชื่อภาษาเมี่ยน  องค์นินเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านสันเจริญ เราได้มีโอกาสมาคารวะและพูดคุยถึงเรื่องราวอันแสนข้นคลั่กกว่าจะมาเป็นบ้านสันเจริญในทุกวันนี้

ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า เดิมชาวเขาเผ่าเมี่ยนมีถิ่นฐานอยู่แถบมณฑลยูนนาน เมื่อถูกจีนรุกราน ประกอบกับการทำมาหากินยากลำบาก จึงพากันอพยพ และกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตัรกรากที่นี่  ในเวลานั้นถนนหนทางและความเจริญยังมาไม่ถึง พื้นที่นี้จึงเสมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก สิ่งที่สร้างรายได้มีเพียงการปลูกฝิ่นที่ชาวบ้านยึดเป็นอาชีพ

ต่อมาเมื่อมีโครงการพัฒนาตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขากลุ่มต่างๆ ปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนการปลูกฝิ่น ชาวเมี่ยนที่นี่จึงหันมาปลูกพริก ปลูกฝ้าย ข้าวโพด รวมถึงพืชล้มลุกต่าง ๆ แทนกระทั่งปี 2532 ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดน่าน (ปัจจุบันคือศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 25 จังหวัดน่าน) ได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกกาแฟอะราบิกา ครั้งนั้นมีชาวเมี่ยนสนใจร่วมปลูกกาแฟเพียง 25 ราย โดยมีผู้นำคือผู้ใหญ่เจริญศักดิ์ รวบรวมกาแฟเชอร์รีจากชาวบ้านนำไปขายให้พ่อค้าคนกลางในเมืองและจังหวัดอื่น แต่ต่อมาเกิดปัญหาราคากาแฟเชอร์รีตกต่ำ  ในปี 2546  ผู้ใหญ่จึงพยายามรวมกลุ่มก่อตั้งกลุ่มแปรรูปกาแฟขึ้น โดยขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน  ในที่สุดจึงเกิดเป็น "กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟสวนยาหลวง" นี้ขึ้น  ปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าร่วมกลุ่มฯ และหันมาปลูกกาแฟครอบคลุมพื้นที่สวนยาหลวงเกือบ 2,000 ไร่ กาแฟจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวสันเจริญอย่างเป็นกอบเป็นกำ

สนทนากันอย่างออกรสได้สักพักหนึ่งก็ถึงเวลาล้อมวงกินมื้อค่ำในบรรยากาศแบบชาวเมี่ยน  แม่ครัวเอกประจำบ้านเป็นผู้ปรุงอาหารหลายเมนูในมื้อนั้น แม้จะเป็นเมนูง่ายๆ คล้ายคลึงกับที่เราคุ้นเคย ทว่าอาหารค่ำวันนั้นกลับอร่อยกว่าที่เคยคุ้น แถมยังอิ่มเอมจากการต้อนรับขับสู้ด้วยมิตรภาพอันดียิ่งอากาศเริ่มเย็นลงเรื่อยๆ แต่น้ำเย็นที่กลั้นใจอาบเมื่อสักครู่กลับทำให้ยิ่งสดชื่นและผ่อนคลาย ค่ำคืนนั้นเราจึงเข้านอนอย่างแสนสุข โดยมีหิ่งห้อยที่บินลอดช่องลมเข้ามาส่องแสงกะพริบวิบวับราตรีสวัสดิ์ถึงข้างหมอน

จากต้นกาแฟสู่น้ำขม ๆ กรุ่นกลิ่นหอม

เสียงทำอาหารจากห้องครัว บวกเสียงสนทนาภาษาเมี่ยนระหว่างผู้ใหญ่กับลูกชาย ปลุกเราให้ตื่นขึ้นมาสัมผัสอากาศเย็นเหน็บหนาว  ฟ้ายังไม่ทันสาง รองเส็งไกด์กิตติมศักดิ์ก็มารอเราอยู่หน้าบ้านพร้อมรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อแล้ว  โปรแกรมเช้านี้มีจุดหมายที่ จุดชมทิวทัศน์สวนยาหลวง แต่เนื่องจากเมื่อคืนบนยอดดอยมีฝนลง ผู้ใหญ่จึงไม่อยากให้ขึ้นไปเพราะห่วงความปลอดภัย แต่พี่สุดเขต ลูกชายผู้ใหญ่เจริญศักดิ์ ไกด์อีกคนของเรา อยากให้ได้ขึ้นไปชมความสวยงามด้วยเห็นว่าอุตส่าห์เดินทางไกลมาถึงที่นี่ ในที่สุดผองเราทั้งหลายเลยได้ออกเดินทาง ทว่ามีการกันเหนียวไว้ล่วงหน้าด้วยการพกจอบขุดดินไปเป็นอุปกรณ์เสริมช่วยกรุยทางสู่ยอดดอยเมื่อถนนคอนกรีตสิ้นสุดลง การผจญภัยครั้งใหม่ก็เริ่มขึ้น เพราะต่อจากนี้จะต้องผ่านไปบนถนนดินลูกรังที่บางช่วงขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ บางช่วงก็ลาดชันคดโค้งไปตามไหล่เขา รวมระยะทางราว 13 กิโลเมตร จึงจะถึงยังจุดชมทิวทัศน์สวนยาหลวง อันเป็นจุดที่สูงที่สุดของหมู่บ้าน คือสูงราว 1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล  พี่สุดเขตบอกด้วยว่า ตรงนั้นเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางทิวทัศน์รอบตัว 360 องศาสองข้างทางที่ผ่านพวกเราเห็นแต่สวนกาแฟกว้างใหญ่ปกคลุมทั่วพื้นที่ราบและไหล่เขา  

ต้นกาแฟขึ้นเรียงรายเป็นแนว บางต้นเตี้ยใบสีเขียวเข้ม ผลสีแดงดกเต็มก้านกิ่ง บางต้นสูงเป็นซุ้มโค้งให้ร่มเงายามรถแล่นผ่าน  ไกด์ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ผลกาแฟเหล่านี้จะเริ่มสุกให้เก็บได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงกุมภาพันธ์รถกระบะคันใหญ่พาเราไต่ความสูงแข่งกับอาทิตย์ดวงโตที่กำลังเคลื่อนขึ้นพ้นสันเขา  รองเส็งบังคับรถอย่างเคร่งขรึม โดยมีพี่สุดเขตเป็นเหมือนหางเสือคอยบอกเส้นทางของถนนว่าควรเบี่ยงไปทางซ้ายหรือขวา

 แต่ทันใดนั้นรถก็กระแทกเข้ากับไหล่ทางแล้วติดหล่มซึ่งเกิดจากสายฝนพร่างพรมเมื่อคืน  พี่สุดเขตรีบคว้าจอบลงไปเกลี่ยทาง ขณะพวกเรารีบกระโดดลงเพื่อช่วยกันพารถออกจากหล่มดินโคลนแม้รถจะหลุดจากหล่มดินมาได้ แต่เพื่อความปลอดภัยไกด์ทั้งสองต่างลงความเห็นว่าไม่ควรไปต่อ ทว่า ณ จุดนี้ ภาพพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าท่ามกลางทะเลหมอกทำให้เราไม่รู้สึกเสียเที่ยวที่ขึ้นมา ซ้ำการได้ร่วมแรงร่วมใจยิ่งพาให้ประทับใจกว่าการไปถึงจุดหมายเสียอีก

จากนั้นพวกเราก็เปลี่ยนแผนไปชม สวนกาแฟ แทน  ผลแดงๆ ตัดกับใบเขียว ของต้นกาแฟทำให้เราตื่นเต้นไม่ต่างจากเห็นพระอาทิตย์ขึ้น  เจ้าของสวนแต่ละสวนจะมาเก็บเมล็ดกาแฟกันตั้งแต่ 7 โมงเช้ากระทั่งราว 5 โมงเย็น  ยิ่งในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ผลกาแฟสุกจะยิ่งมีมากถึงกับเก็บไม่ทัน ต้องจ้างคนมาช่วยเก็บเพิ่มเลยทีเดียวกาแฟเชอร์รีที่เก็บมาจะถูกลำเลียงลงจากดอยไปส่งยังที่ทำการกลุ่มฯ 

เพื่อผ่านกระบวนการที่เรียกว่า "วิธีแบบเปียก" คือนำผลกาแฟเหล่านี้ไปแช่ในบ่อน้ำเพื่อเอาเศษใบไม้หรือผลกาแฟแห้งลีบออก กาแฟเชอร์รีสภาพสมบูรณ์ซึ่งจมอยู่ในบ่อจะถูกดูดผ่านท่อกลมส่งเข้าสู่เครื่องกะเทาะเปลือกซึ่งลอกเปลือกหุ้มออก  ผลกาแฟที่ถูกลอกเปลือกออกเรียกว่า "กาแฟกะลา" จะมีผิวสีขาวอมเขียวอ่อนๆ ซึ่งเป็นผิวอีกชั้นที่หุ้มเมล็ดอยู่  

หลังจากนั้นจึงส่งกาแฟกะลาเข้าสู่กระบวนการหมักที่ช่วยสร้างรสชาติและทำให้เมล็ดกาแฟมีคุณภาพผลกาแฟที่ผ่านการหมักจะถูกนำไปตากแดดอีกราว 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงส่งเข้าเครื่องสีเพื่อสีเอากะลาหุ้มเมล็ดออก ได้เป็น "กาแฟสาร" บรรจุลงกระสอบรอพ่อค้าคนกลางขึ้นมารับซื้อ  

กาแฟสารนี้ทางที่ทำการกลุ่มฯ ได้นำบางส่วนไปคั่วและจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟคั่ว กาแฟคั่วบด ในชื่อ "กาแฟสวนยาหลวง" ด้วย

ตามหาความงามซุกซ่อนในแดนดอย

การเดินทางตามหาต้นทางความขมในครั้งนี้ นอกจากจะได้เที่ยวชมสวนกาแฟ พร้อมทดลองเก็บกาแฟกับชาวเมี่ยนและชมกระบวนการผลิตกาแฟตลอดทุกขั้นตอนแล้ว ในแดนดอยสวนยาหลวงนี้เรายังได้พบความงามของธรรมชาติซ่อนอยู่ด้วย จากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันตกประมาณ 7 กิโลเมตร เราพบน้ำตกภูสัน น้ำตกขนาดใหญ่สูง 12 ชั้น ตั้งตระหง่านในแวดล้อมของป่าไม้อันสมบูรณ์  

จากจุดนี้เราเดินเท้าผ่านดงหวายและเฟินที่ขึ้นอยู่ตามทางไปอีกราว 200 เมตร ก็ถึงบริเวณชั้นที่ 12 ของน้ำตกซึ่งถือเป็นจุดที่สวยที่สุด มองเห็นสายน้ำไหลลดหลั่นไปตามชั้นหินท่ามกลางความเขียวขจีของแมกไม้  ใครต้องการมายลโฉมน้ำตกแห่งนี้ ขอแนะนำให้มาช่วงฤดูหนาว โดยต้องเดินทางด้วยรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้นจึงจะผ่านทางลูกรังไปได้ แต่หากมาเยือนบ้านสันเจริญในหน้าฝน จะไม่สามารถไปเที่ยวน้ำตกภูสันได้เลย เพราะทางลื่นมาก เดินทางยากลำบาก น้ำออกรู ที่เที่ยวอีกแห่งซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกเพียง 1 กิโลเมตร มีตำนานเล่าขานว่า บริเวณนี้เดิมเป็นถ้ำที่ชาวบ้านซึ่งสัญจรผ่านไปมาจะได้ยินเสียงน้ำไหลดังกังวาน ต่อมาเกิดฟ้าผ่ารุนแรง ทำให้ดินถล่มลงปิดปากถ้ำ เหลือเพียงช่องผาหรือรูเล็กๆ ที่มีสายน้ำพุ่งออกมาจากซอกหินดังเช่นปัจจุบัน  น้ำออกรูซึ่งถือเป็นต้นน้ำสำคัญของห้วยน้ำลักในหมู่บ้านสันเจริญนี้ มีน้ำใสไหลรินตลอดปี ที่นี่จึงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้าน ทั้งยังเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา และมีต้นต๋าวป่าให้ชาวบ้านได้มาเก็บลูกต๋าวนำไปขายเป็นรายได้เสริม แถมอุดมด้วยหวายฝาดให้เก็บไปทำแกงหวาย หวายขมให้นำไปจักสานเป็นโต๊ะเก้าอี้ทรงกลม รวมทั้งไผ่หกซึ่งนำมาสาน "เจ" หรือปุ้งกี๋ไว้ใส่เมล็ดกาแฟ

แม้เมื่อกลับถึงเมืองกรุง ครั้งใดที่จิบกาแฟ ภาพความทรงจำ ณ บ้านสันเจริญก็จะปรากฏขึ้น  รสชาติขมๆ ของกาแฟในแก้วคงเหมือนรสชาติความยากลำบากในการเดินทางครั้งนั้น ทว่าความขมนั้นก็หอมละมุนจนกลายกลับเป็นความหวานเพิ่มเติมความสุขให้ชีวิต ให้นั่งอมยิ้มทุกคราวครั้งที่หวนระลึกถึง

>>สนใจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่บ้านสันเจริญ ควรติดต่อล่วงหน้าที่ ภัทรพล เฮงธนะเสถียร (รองเส็ง) โทร. 08-2898-7473 หรือ อบต. ผาทอง อ. ท่าวังผา จ. น่าน  โทร. 0-5479-8537<<<

>>บริการโฮมสเตย์ในหมู่บ้านสันเจริญ คนละ 300 บาทต่อคืน (รวมอาหาร 3 มื้อ และรถรับ-ส่งยังจุดท่องเที่ยว)  นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถเลือกกางเต็นท์พักแรมบริเวณวัดพุทธานุภาพหรือจุดชมทิวทัศน์ได้ด้วย คิดค่าบริการอาหาร 3 มื้อโดยส่งถึงจุดกางเต็นท์ และค่ารถรับ-ส่งยังจุดท่องเที่ยว รวม 400 บาทต่อคน<<<

เรื่อง : พรเพ็ญ วงศ์ศุภชัยนิมิต ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

หนาวนี้ ไปแอ่วน่าน ชวนอยู่น่าน นาน นาน นะ คลิกชมภาพ

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ เติมความสุขด้วยรสขมที่บ้านสันเจริญ จ.น่าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook