เที่ยวสังขละบุรี กาญจนบุรี

เที่ยวสังขละบุรี กาญจนบุรี

เที่ยวสังขละบุรี กาญจนบุรี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สวยจับใจในสายฝนหลายคนหลงใหล "สังขละบุรี" เมืองมอญชายแดนตะวันตกในจังหวัดกาญจนบุรี เพราะเงียบสงบ ธรรมชาติสวย อากาศดี ยิ่งหน้าหนาวที่หมอกขาวห่มคลุม อากาศหนาวถึงหนาวมาก แต่ถ้าได้เกี่ยวแขนคนรักเดินข้ามสะพานมอญ มันโคตะระจะโรแมนติก บ้างก็หลงรักเมืองนี้ยามหน้าร้อนที่แม้จะร้อนเหลือยามกลางวัน แต่กลางคืนกลับเย็นสบาย

อีกทั้งตะวันรอนที่สาดส่องแม่น้ำและสะพานมอญในมุมมองย้อนแสงนั้นงามบาดจิต ทริปนี้ Lisa จึงตั้งใจไปเปียกปอนนอนฟังเสียงฝนคุยกันในสังขละบุรีดูบ้างถึงจะไม่ใช่หน้าหนาวที่ผู้คนเฮกันมาเที่ยว แต่เชื่อเถอะว่าต่อให้ฤดูกาลไหนๆ เมืองประวัติศาสตร์ที่เต็มอิ่มด้วยธรรมชาติและวิถีชีวิตง่ายงามแบบชาวมอญสังขละบุรียังอยู่ในใจนักเดินทางเสมอ


Fast Facts
● อำเภอสังขละบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 357 กิโลเมตร เมื่อถึงตัวเมืองกาญจนบุรี ขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข 323 ถึงทางแยกก่อนเข้าตัวอำเภอทองผาภูมิให้เลี้ยวขวา แล้วขับรถต่อไปอีก 74 กิโลเมตร ถึงสังขละบุรี และควร
ตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมและขับรถด้วยความระมัดระวังเนื่องจากเส้นทางคดเคี้ยวและลาดชันในบางช่วง
● หากใช้บริการรถโดยสารประจำทางและรถตู้ มีรถออกที่สถานีขนส่งขนส่งสายกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี โดยลงที่สถานีขนส่งจังหวัดกาญจนบุรี แล้วต่อรถตู้ไปสังขละบุรี บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 0-2872-1777 หรือนั่งรถตู้จากอนุสาวรีย์ชัยฯ สายกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี แล้วค่อยต่อรถตู้ที่สถานีขนส่งจังหวัดไปสังขละบุรี ซึ่งมีหลายบริษัทที่ให้บริการ

ฝ่าฝนมุ่งเมืองมอญ กว่าจะถึงสังขละฯ ก็มืดค่ำ ไหนจะฝ่าสายฝนหนักบ้างเบาบ้างนับแต่ออกจากกรุงเทพฯ แถมเรายังเถลไถลแวะถ่ายรูปกันไปเรื่อยตั้งแต่ตัวเมืองกาญจน์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว สุสานทหาร-สัมพันธมิตรดอนไก่ ก่อนตียาวไปจุดชมวิวป้อมปี่ นั่งรอดูแสงสุดท้ายของวันในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จากนั้นจึงบ่ายหน้าสู่สามประสบรีสอร์ทเพื่อพักผ่อนเอาแรงในที่พักแสนอบอุ่นและวิวสวยที่สุดของสังขละฯ เมืองมอญแห่งนี้ในหน้าฝนออกจะดูเหงาๆ ยิ่งเป็นวันธรรมดาด้วยแล้วเข้าขั้นซบเซา แต่แม้เพื่อนร่วมทางจะน้อยนิด หากเรากลับเริงร่าในหัวใจ ไม่ต้องแย่งกันกิน แย่งกันพักแย่งกันเที่ยว... มันดีกว่ากันเป็นไหนๆ


ใส่บาตร-ไหว้พระตามวิถีมอญ เช้านี้ในสังขละฯ ของเราเริ่มขึ้นก่อนฟ้าสาง เราพากันเดินข้ามสะพานมอญหรือชื่อเต็มยศคือ "สะพานอุตตมา-นุสรณ์" เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศหรือประมาณ 850 เมตร ทอดข้ามลำน้ำซองกาเลีย สร้างโดยการนำของหลวงพ่ออุตตมะ และแรงศรัทธาของชาวมอญ กะเหรี่ยง และชาวไทยเพื่อใช้ข้ามไปมาหากัน เหมือนวันที่เราข้ามไปร่วมตักบาตรกับชาวมอญที่พากันมานั่งรอพระอยู่ริมถนน

สิ่งที่ได้เห็นคือชาวบ้านจะก้มลงกราบพระที่พื้นถนนก่อนลุกขึ้นใส่บาตร เป็นภาพที่ประทับใจเราจริงๆคุณยายท่านหนึ่งเล่าว่าชาวมอญจะนิยมใส่แต่ข้าว ส่วนกับข้าวนั้นชาวบ้านแต่ละซอยจะสลับกันทำ ดอกไม้ที่นิยมใส่บาตรมีทั้งดอกพุด ดอกกรรณิการ์ หรือดอกไม้ที่ปลูกอยู่ริมรั้ว นักท่องเที่ยวที่จะใส่บาตรสามารถซื้อชุดอาหารที่ชาวบ้านทำเตรียมไว้ราคาชุดละ 99 บาท แต่แนะนำให้เดินไปอุดหนุนเจ้าที่อยู่ไกลจากสะพานบ้างเพื่อกระจายรายได้ให้ชาวบ้านทั่วถึงกัน

เดินเท้า-ล่องเรือชมวัด ใส่บาตรแล้วฝนเริ่มพรำๆ เรารู้สึกเย็นสบายเหมือนถูกประพรมด้วยน้ำมนต์ เรามุ่งหน้าไปไหว้พระที่วัดวังก์วิเวการามใหม่ วัดนี้สร้างขึ้นเพื่อแทนวัดวังก์วิเวการามเดิมที่หลวงพ่ออุตตมะกับชาวมอญและกะเหรี่ยงร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อปี 2496 ในบริเวณที่เรียกว่า "สามประสบ" หรือจุดที่แม่น้ำสามสายไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแควน้อยคือ แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำรันตี และแม่น้ำบีคลี่ ก่อนที่จะจมน้ำกลายเป็นเมืองบาดาลเพราะการสร้างเขื่อนเขาแหลมหรือเขื่อนวชิราลงกรณ์ในปี 2527 วัดนี้จึงเป็นที่จำพรรษาของหลวงพ่ออุตตมะ และยังเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อขาวหรือพระพุทธรูปหินอ่อนที่งดงาม ห่างออกไปหนึ่งกิโลเมตรเป็นที่ตั้งของเจดีย์พุทธคยา บนยอดเจดีย์ประดับด้วยฉัตรทองคำ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุกระดูกนิ้วหัวแม่มือขวาที่หลวงพ่ออัญเชิญมาจากศรีลังกา ช่วงบ่ายเราจึงไปล่องเรือ ซึ่งมีให้บริการอยู่หลายเจ้าแถวๆ ทางลงสะพานมอญ เรือพาเราลอดใต้สะพานชมผืนป่าเขียวขจีท่ามกลางขุนเขา แล้วไปหยุดที่วัดวังก์วิเวการามเดิมซึ่งตอนนี้จมอยู่ในน้ำ เหลือเพียงครึ่งบนของโบสถ์โผล่ให้เห็น หากใครอยากเห็นตัวโบสถ์แบบเต็มๆ ต้องมาหน้าแล้ง หนำซ้ำในบางฤดูที่น้ำแห้งมากอาจเดินลอดเข้าชมภายในโบสถ์ได้ด้วย

ช้อปปิ้งด่าน แวะน้ำตก ก่อนกลับเช้าวันอำลาสังขละฯ เราไม่พลาดไปเก็บภาพสะพานมอญที่เชื่อมมิตรภาพของผู้คนหลายเชื้อชาติอีกสักครั้ง จากนั้น จึงมุ่งหน้าไปด่านเจดีย์-สามองค์ ในอดีตเป็นช่องทางเดินทัพสำคัญของไทยและพม่า แต่ปัจจุบันเปิดเป็นตลาดชายแดนขายสินค้าจากพม่า ระหว่างกลับเข้ากรุง เราแวะน้ำตกเกริงกระเวียที่อยู่ริมทางเพื่อสูดกลิ่นอายธรรมชาติให้เต็มอิ่มสามวันสองคืนในสังขละฯ แม้จะมีสายฝนโปรยตลอดการเดินทาง แต่ก็ทำให้หัวใจสดชื่นเพราะความงามชุ่มฉ่ำของธรรมชาติ และการได้สัมผัสถึงไมตรีจิตของชาวไทยและมอญที่อยู่ร่วมกันอย่างสุขสมถะ

ข้อมูลโดย : Lisaguru

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook