ประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์ และ การออกร้านตลาดนิพพาน

ประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์ และ การออกร้านตลาดนิพพาน

ประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์ และ การออกร้านตลาดนิพพาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเพณีที่แสดงถึงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และความสามัคคีของชุมชนท้องถิ่น ที่มีอัตลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรม ณ บริเวณลานหน้าเจดีย์พุทธคยา อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

สำหรับ ประวัติความเป็นมาของประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์ เกิดขึ้นในสมัยใดของเมืองมอญนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนในชุมชนคนมอญวัดวังก์วิเวการาม เมื่อครั้งยังตั้งชุมชนอยู่ที่เก่าก่อนน้ำท่วม (บริเวณเมืองบาดาลในปัจจุบัน) ประเพณีนี้ยังไม่มี เพราะไม่มีต้นโพธิ์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2530 หลวงพ่ออุตตมะได้อันเชิญต้นหน่อพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้รับพระราชทานมาจาก สมเด็จพระสังฆราชแห่งประเทศศรีลังกา เมื่อครั้งที่หลวงพ่ออุตตมะเดินทางไปขอพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อมาประดิษฐานไว้บนยอดเจดีย์พุทธคยา

โดยในวันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2530 สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จมาทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ ไว้ที่บริเวณลานเจดีย์พุทธคยา ของวัดวังก์วิเวการาม ตั้งแต่นั้นมา หลวงพ่ออุตตมะจึงได้รื้อฟื้นให้มีประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์ขึ้น เหมือนที่เมืองมอญบ้านเกิดของท่าน ดังนั้นเมื่อถึงวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ในช่วงเย็น ชาวมอญจะพร้อมใจกันนำน้ำอบ น้ำหอม น้ำสะอาดลอยดอกไม้ มารวมตัวรดน้ำที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จนเป็น "ประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์" ของชุมชนมอญสังขละบุรีแห่งนี้

นอกจากนี้ในเย็นวันเดียวกัน ยังมีประเพณีที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ "การออกร้านตลาดนิพพาน" (นิพพาน คือ ความดับ ไม่ต้องเกิดขึ้นมาอีก อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาา ดังนั้นพุทธศาสนิกชนคนมอญทุกคนจึงหมั่นทำความดี สร้างกองบุญกองกุศลต่าง ๆ ไว้ มีทั้งการให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา ก็เพื่อให้บรรลุถึงซึ่งนิพพาน) ซึ่งในวันวิสาขบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ชาวมอญที่สังขละบุรี จึงมีประเพณีออกร้านตลาดนิพพานขึ้น ในช่วงค่ำของวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หลังจากเสร็จสิ้นประเพณีรดน้ำต้นโพธิ์แล้ว

โดยชาวมอญที่มาออกร้านตลาดนิพพาน จะนำอาหารคาว-หวาน ผลไม้ ขนม น้ำดื่ม หรือสิ่งของต่าง ๆ มาตั้งร้านไว้ หลังจากที่ได้ร่วมกันสมาทานศีล ไหว้พระ สวดมนต์ และเวียนเทียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการเปิดตลาดให้ผู้คนทั่วไปที่มาร่วมทำบุญ ได้เอาบุญที่ทำมาแล้วนั้น มาแลกซื้อสิ่งของ โดยไม่ต้องมีการใช้เงินซื้อแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ขายเองก็ปรารถนาบุญ และการสร้างทานบารมีด้วยเช่นกัน โดยชุมชนชาวมอญแห่งนี้ มีความเชื่อว่าบุญต่าง ๆ ที่ได้สั่งสมไว้แล้วนี้ จะนำพาให้บรรลุถึงซึ่งนิพพาน จึงเรียกประเพณีบุญนี้ว่า "การออกร้านตลาดนิพพาน"

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook